รู้จัก Crypto Scams การหลอกลวงทางคริปโตที่กำลังเพิ่มขึ้น
ตลาดสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ได้เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และได้ดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกด้วยผลตอบแทนการลงทุนที่สูง แต่ในขณะเดียวก็ดึงดูดมิจฉาชีพจำนวนมากเช่นกัน ทำให้การหลอกลวงทางคริปโต หรือ “Crypto Scams” มีความซับซ้อนและแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการเงินจำนวนมหาศาลทั้งต่อผู้คนและธุรกิจต่างๆ
โดยมีสถิติที่สำคัญเกี่ยวกับ Crypto Scams ดังนี้
- ตามรายงานของคณะกรรมการการค้าแห่งสหรัฐฯ (Federal Trade Commission - FTC) มีการสูญเสียเงินมากถึง 679 ล้านดอลลาร์จากการฉ้อโกงทางสกุลเงินดิจิทัล ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024
- Investment Scams หรือการหลอกลวงลงทุน เป็นรูปแบบการฟิชชิง (Phishing) ที่พบบ่อยที่สุด โดยคิดเป็น 46% ของการหลอกลวงทางคริปโตทั้งหมด
- ศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนคริปโตในอินเดีย WazirX ถูกโจมตีและมีข้อมูลสำคัญรั่วไหลจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายมูลค่าสูงถึง 230 ล้านดอลลาร์
- การโจมตีคริปโต (Crypto Hack) ครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดจนถึงปัจจุบันนี้ คือ Ronin Network (625 ล้านดอลลาร์), Poly Network (611 ล้านดอลลาร์) และ FTX (600 ล้านดอลลาร์)
เหตุด้วยการลงทุนในคริปโตถือเป็นการทำกำไรอย่างรวดเร็ว และด้วยการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ของสกุลเงินดิจิทัลช่วยให้มิจฉาชีพหลอกลวงสามารถล่อลวงผู้คนได้ง่าย โดยเหล่ามิจฉาชีพมักโน้มน้าวนักลงทุนด้วยค่าตอบแทนที่สูงกว่าปกติ หรือโอกาสการลงทุนพิเศษ อย่างไรก็ตาม หลังเริ่มลงทุน เหยื่อมักไม่สามารถถอนเงิน หรือแม้แต่กู้คืนเงินลงทุนได้
สกุลเงินดิจิทัลคืออะไร?
สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) คือ รูปแบบสกุลเงินที่ใช้การเข้ารหัส (Cryptography) เพื่อรักษาความปลอดภัยของธุรกรรม ทำให้ยากต่อการปลอมแปลงหรือใช้เงินซ้ำสองครั้ง ต่างจากสกุลเงินดั้งเดิมที่ออกโดยรัฐบาลของประเทศต่างๆ โดยสกุลเงินดิจิทัลนั้นอยู่บนเครือข่ายแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Networks) ตามเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Technology)
โดยเทคโนโลยีนี้เป็น Distributed Ledger ที่บันทึกธุรกรรมทั้งหมดผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หนึ่งในสกุลเงินดิจิทัลที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือ บิทคอยน์ (Bitcoin) แต่ก็ยังมีสกุลเงินอื่นๆ อีกด้วย เช่น อีเธอเรียม (Ethereum), ริปเปิล (Ripple) และไลท์คอยน์ (Litecoin) เป็นต้น
มีการใช้สกุลเงินดิจิทัลอย่างไรบ้าง?
- การลงทุนและการซื้อขาย - หลายคนซื้อสกุลเงินดิจิทัลอย่างบิทคอยน์เพื่อเป็นการลงทุนในระยะยาว โดยหวังว่ามูลค่าของสกุลเงินจะเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ส่วนหลายๆ คน ก็เน้นเก็งกำไรจากความผันผวนของค่าสกุลเงิน โดยทำการซื้อ-ขายสกุลเงินดิจิทัลบนแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนต่างๆ
- ซื้อสินค้าออนไลน์ - ร้านค้าออนไลน์ ธุรกิจ และผู้ให้บริการบางรายนั้นรับชำระสินค้าเป็นสกุลเงินดิจิทัล ทำให้สามารถซื้อสินค้าหรือบริการได้โดยตรงด้วยสกุลเงินดิจิทัล ผู้คนจึงใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น Ralph Lauren, Microsoft Store และ Expedia
- การส่งเงินและการโอนเงิน - สกุลเงินดิจิทัลเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีการเข้าถึงบริการธนาคารแบบดั้งเดิมได้อย่างจำกัด ซึ่งสามารถส่งเงินข้ามพรมแดนได้อย่างรวดเร็ว และมีค่าธรรมเนียมต่ำกว่า เมื่อเทียบกับวิธีการโอนเงินผ่านธนาคารแบบดั้งเดิม
- DeFi (Decentralized Finance) - การเงินแบบ DeFi หรือกระจายศูนย์ ผู้คนสามารถให้ยืมหรือยืมสกุลเงินดิจิทัลได้ โดยแลกกับการได้รับดอกเบี้ยหรือเข้าถึงเงินกู้โดยไม่ต้องผ่านธนาคาร โดยผู้คนสามารถเข้าร่วมในการวางเดิมพัน (Staking) ซึ่งเป็นการล็อกเงินดิจิทัลของพวกเขาในเครือข่ายบล็อกเชนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ และได้ผลตอบแทนเป็น Coin สำหรับการสนับสนุนนั้นๆ
- การหารายได้และการขุดคริปโต - บางคนอาจขุดสกุลเงินดิจิทัล (Mining) โดยใช้คอมพิวเตอร์เพื่อทำธุรกรรมบนบล็อกเชนและรับผลตอบแทนเป็น Coin หรืออาจทำการหารายได้จากสกุลเงินดิจิทัลผ่านกิจกรรม เช่น การเข้าร่วมแบบสำรวจ การทำงานต่างๆ หรือการสร้างเนื้อหา
Crypto Scams คืออะไร?
การหลอกลวงทางคริปโต (Crypto Scam) คือ รูปแบบการฉ้อโกงที่มิจฉาชีพหลอกลวงผู้คนเข้ามาลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล โดยมักออกอุบายการลงทุน ปลอมตัวเป็นบริการคริปโตที่ถูกกฎหมาย หรือแฮกคริปโต (Crypto Hack) เข้าสู่บัญชี การหลอกลวงเหล่านี้สามารถอยู่ในหลายรูปแบบ รวมถึงการฟิชชิง (Phishing) ไปจนถึงกลลวงแชร์ลูกโซ่ (Ponzi Schemes) และอื่นๆ อีกมากมาย
เป้าหมายหลักของการแฮกคริปโต คือ การหลอกล่อให้เหยื่อส่งเหรีบญคริปโตไปยังมิจฉาชีพ ซึ่งเนื่องจากการออกแบบระบบธุรกรรมของ Cryptocurrency ที่มีความเป็นส่วนตัวสูง ทำให้ยากต่อการติดตามหรือทวงคืน
Crypto Scams มีกี่ประเภท?
การหลอกลวงทางคริปโตมีหลากหลายรูปแบบที่ไม่ซ้ำกัน โดยกลุ่มมิจฉาชีพอาจสร้างกลอุบายที่มีความซับซ้อนหรือดูมีความน่าเชื่อถือ เพื่อล่อลวงเหยื่อนักลงทุนให้หลงเชื่อและส่งเหรียญคริปโตให้ในที่สุด ซึ่งกลลวงที่พบได้บ่อยมีดังนี้
- การหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง (Phishing Scams) - ในการแฮกคริปโต (Crypto Hack) มิจฉาชีพอาจสร้างเว็บไซต์ปลอมที่เลียนแบบชื่อแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกกฎหมาย หรืออีเมลขอให้กรอกคีย์ส่วนตัวบนเว็บไซต์ปลอม เพื่อหลอกให้เหยื่อเข้ามากรอกข้อมูล เช่น อีเมลและรหัสผ่านในการเข้าถึงพอร์ตลงทุน จากนั้นจึงดำเนินการโอนเหรียญคริปโตโดยที่เหยื่อไม่ทันรู้ตัว
- การปั่นราคาและเทขาย (Pump and Dump Schemes) - แผนการปั่นราคาและเทขายเป็นการหลอกลวงที่มิจฉาชีพจะ “ปั่น” ราคาของสกุลเงินดิจิทัลให้สูงขึ้น ซึ่งจะทำหลังจากซื้อเหรียญนั้นๆ ในราคาต่ำ เช่น การเผยแพร่ข่าวกระแสทางการเงินปลอมว่าสกุลเงินดิจิทัลนั้นๆ จะมีราคาสูงขึ้นในอนาคต เพื่อหลอกให้กลุ่มนักลงทุนหลงเชื่อและซื้อสกุลเงินดิจิทัล ก่อนที่จะเพิ่มราคาขึ้นอย่างไม่เป็นธรรมชาติ และเทขายหุ้นในราคาสูง ซึ่งทิ้งให้นักลงทุนต้องถือเหรียญที่ไม่มีมูลค่า
- การเสนอขายเหรียญเริ่มต้นปลอม (Fake Initial Coin Offerings - ICOs) - ใน Crypto Scams รูปแบบนี้ มิจฉาชีพจะสร้าง บริษัทและ ICOs ปลอม โดยอ้างว่านำเสนอสกุลเงินดิจิทัลใหม่ และระดมทุนจากนักลงทุนที่หลงเชื่อ แต่มักตัดขาดการติดต่อและหลบหนีไปพร้อมกับเงินทุน
- การหลอกลวงด้วยมัลแวร์ (Malware Scams) - มิจฉาชีพสามารถใช้มัลแวร์ (Malware) เพื่อเจาะเข้าถึงบัญชีเงินสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurency Wallet) หรือคีย์ส่วนตัว (Private Key) ของเหยื่อ โดยมักจะแนบมัลแวร์ไปกับไฟล์ เว็บไซต์ หรือซอฟต์แวร์ โดยแฝงตัวเป็นแอปพลิเคชันที่ดูปลอดภัย แต่ในความจริงมีการติดตั้งมัลแวร์เอาไว้ เพื่อขโมยเงินดิจิทัลจากบัญชีของเหยื่อ ซึ่งมัลแวร์ที่พบเห็นได้บ่อยคือ Ransomware นั่นเอง
- แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนปลอม (Fake Exchanges) - มิจฉาชีพอาจสร้างแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลปลอมที่ดูเหมือนถูกกฎหมาย แต่สามารถขโมยเงินฝากของผู้ใช้งานได้ โดยมักจะโฆษณาแพลตฟอร์มดังกล่าวว่าคิดค่าธรรมเนียมที่ต่ำและนำเสนอโปรโมชันที่น่าดึงดูด
- การหลบหนีพร้อมเงิน (Rug Pulls) - มิจฉาชีพอาจสร้างสกุลเงินดิจิทัลชนิดใหม่ โน้มน้าวนักลงทุน และถอนเงินทั้งหมดอย่างกะทันหัน หลังจากนั้น นักลงทุนจะเหลือเพียง Token ที่ไม่มีมูลค่า และนนักพัฒนาจะหายไปพร้อมกับเงินทั้งหมดของนักลงทุน
- การหลอกลวงแบบแจกของ (Giveaway Scams) - คือการที่มิจฉาชีพปลอมตัวเป็นคนดังหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในโลกสกุลเงินดิจิทัล จากนั้นจึงเสนอที่จะช่วยทำกำไรจากสกุลเงินดิจิทัลเป็นสองเท่าจากจำนวนเงินที่นักลงทุนส่งให้ ยกตัวอย่างเช่น โพสต์โซเชียลมีเดียที่อ้างว่า Elon Musk กำลังแจกบิทคอยน์ (Bitcoin) เป็นต้น
- การหลอกลวงโดยการปลอมตัว (Impersonation Scams) - มิจฉาชีพจะปลอมตัวเป็นบุคคลหรือองค์กรที่น่าเชื่อถือ เช่น ฝ่ายบริการลูกค้าจากแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโต จากนั้นจึงหลอกให้เหยื่อเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเอียดอ่อนหรือทำการโอนเงิน
วิธีสังเกตและการป้องกัน Crypto Scamsแม้มิจฉาชีพจะมาในหลายรูปแบบ แต่ก็มีวิธีสังเกต Crypto Scams
หลายวิธีเช่นกัน ดังนั้น เพื่อป้องกันทรัพย์สินและข้อมูลสำคัญจากการถูกขโมย มาดูกันว่าจะมีแนวทางการป้องกันตัวจากผู้ไม่หวังดีอย่างไรบ้าง เพื่อให้การลงทุนคริปโตของคุณเป็นไปอย่างราบรื่น
- ให้ความรู้แก่ตัวเอง - อันดับแรก ควรหาความรู้เกี่ยวกับตรวจจับการหลอกลวงสกุลเงินดิจิทัล โดยอาจเริ่มต้นจากการศึกษาจากวิธีการที่มิจฉาชีพใช้ เช่น การฟิชชิง (Phishing) แชร์ลูกโซ่ (Ponzi schemes) และ ICOs ปลอม พร้อมติดตามข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับ Cryptocurrency เพื่อดูว่ามีกลลวงใหม่ๆ เกิดขึ้นหรือไม่
- ใช้แพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียง - แนะนำให้เลือกใช้เฉพาะแพลตฟอร์ม Exchange ที่มีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือ พร้อมมีมาตรการความปลอดภัยที่แข็งแกร่งและประวัติการให้บริการที่ดี อีกทั้ง ควรตรวจสอบ URLs ก่อนกรอกข้อมูลใดๆ เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นเว็บไซต์ทางการจริง
- เปิดใช้งานความปลอดภัยที่แข็งแกร่ง - สามารถเพิ่มระดับความปลอดภัยให้กับบัญชีคริปโต โดยเปิดใช้งานการยืนยันตัวตนสองขั้นตอน (2FA) และที่สำคัญคือไม่ควรแชร์ Private Key กับผู้ใดเด็ดขาด ซึ่งขอแนะนำให้เก็บไว้แบบออฟไลน์ในสถานที่ปลอดภัย เช่น กระเป๋าเงินฮาร์ดแวร์ (Hardware Wallet) หรือเขียนข้อมูลบนกระดาษ
- ระมัดระวังข้อเสนอการลงทุน - ควรระมัดระวังข้อเสนอการลงทุนที่ดูดีเกินจริง ซึ่งส่วนใหญ่มักมีลักษณะ คือ สัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนสูงโดยมีความเสี่ยงน้อย ทั้งนี้ หากมีคนติดต่อเข้ามานำเสนอโอกาสการลงทุน ให้ตรวจสอบตัวตนและความถูกต้องของข้อมูลเสมอ
- ฝึกพฤติกรรมออนไลน์ที่ปลอดภัย - หลีกเลี่ยงการคลิกลิงก์หรือดาวน์โหลดไฟล์แนบจากอีเมล หรือข้อความโซเชียลมีเดียจากคนที่ไม่รู้จักหรือดูน่าสงสัย โดยก่อนส่งสกุลเงินดิจิทัลใดๆ ให้ตรวจสอบผู้ติดต่ออย่างระมัดระวัง โดยบางครั้งมิจฉาชีพอาจเปลี่ยน ชื่อ หรือรูปแบบการหลอกลวง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกจับได้
- ใช้การเก็บเหรียญแบบ Cold Storage - สำหรับผู้ที่ต้องการถือเหรียญสกุลเงินดิจิทัลจำนวนมากแบบระยะยาว แนะนำให้ใช้ Cold Wallets หรือกระเป๋าคริปโตที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ซึ่งใช้อุปกรณ์อย่าง Hardware Wallet เป็นตัวเก็บคีย์แทน จึงมั่นใจได้ว่าปลอดภัยจากการแฮกผ่านช่องทางออนไลน์
- รายงานและบล็อกพฤติกรรมที่น่าสงสัย - หากพบเห็นการหลอกลวงหรือพฤติกรรมที่น่าสงสัย ให้รีบแจ้งแพลตฟอร์มหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองและเตือนนักลงทุนคริปโตคนอื่นๆ อีกด้วย และหากคุณได้รับข้อเสนอการลงทุนหรือได้ข้อความที่ไม่ได้ขอ ก็แนะนำให้บล็อกผู้ส่งและไม่โต้ตอบใดๆ
รายงานเหตุการณ์ Crypto Scams อย่างไร
ติดต่อแพลตฟอร์มหรือตลาด Exchange
หากถูกมิจฉาชีพล่อลวงผ่านแพลตฟอร์มสกุลเงินดิจิทัล แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยน หรือบริการกระเป๋าเงินดิจิทัลใดๆ ให้รีบ รายงานเหตุการณ์โดยตรงกับผู้ให้บริการ โดยแพลตฟอร์มส่วนใหญ่มักมีช่องทางสำหรับรายงานการฉ้อโกงหรือกิจกรรมที่น่าสงสัยโดยเฉพาะ และแนะนำให้บอกข้อมูลสำคัญเช่น ID ของธุรกรรมนั้นๆ ข้อความที่พูดคุยกับมิจฉาชีพ และหลักฐานสำคัญต่างๆ เพื่อช่วยในการสืบสวนและหาตัวมิจฉาชีพ
แจ้งหน่วยงานท้องถิ่น
ติดต่อหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เช่น กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ ที่ thaipoliceonline.go.th/ หรือโทรสายด่วน 1441 เพื่อแจ้งความและขอคำปรึกษา โดยชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดของการหลอกลวง รวมถึงความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้น
แจ้งชุมชนสกุลเงินดิจิทัล
เว็บไซต์อย่าง BitcoinAbuse.com เปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้รายงานมิจฉาชีพ เพื่อเป็นการช่วยเตือนนักลงทุนผู้อื่น หรืออาจเลือกแบ่งปันประสบการณ์การพบเจอมิจฉาชีพในคอมมูลนิตี้ ฟอรัม หรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ
โดยสรุป
การเติบโตของสกุลเงินดิจิทัลได้เปิดประตูใหม่ๆ สำหรับธุรกรรมทางการเงิน แต่ก็ได้ปูทางให้กับการหลอกลวงที่มีความซับซ้อนมากขึ้น อีกทั้งเมื่อตลาดคริปโตขยายตัว มิจฉาชีพก็ได้ออกอุบายและกลยุทธ์การหลอกลวงเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทำให้ทั้งนักลงทุนที่มีประสบการณ์และมือใหม่ตกอยู่ในความเสี่ยง
ในปัจจุบัน แม้แต่แพลตฟอร์ม Exchange ที่มั่นคงที่สุดก็อาจตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกงได้ ดังนั้น การติดตามข้อมูลข่าวสาร การลงทุนคริปโตระมัดระวังและรอบคอบ จึงมีความสำคัญมากกว่าที่เคย แม้จะมีข้อเสนอเป็นกำไรจำนวนมากก็ตาม
เมื่อโลกสกุลเงินดิจิทัลเติบโตต่อเนื่อง การรับรู้และการป้องกันต่อการหลอกลวงทางไซเบอร์ก็ควรเติบโตตามไปด้วย โดยการหมั่นศึกษาหาความรู้ และนำแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยมาใช้งาน ก็จะสามารถปกป้องสินทรัพย์และมีส่วนร่วมในการสร้าง Digital Economy ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น
คำถามที่พบบ่อย
การหลอกลวงทางคริปโต (Crypto Scams) เป็นแผนการฉ้อโกงชนิดหนึ่งที่ออกแบบมาเพื่อขโมยสกุลเงินดิจิทัลหรือข้อมูลส่วนบุคคล...
มิจฉาชีพสามารถใช้กลยุทธ์วิศวกรรมสังคม (Social Engineering) เพื่อขอข้อมูลบัญชีธนาคารหรือบัตรเครดิต...
Fungible Tokens เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ในอัตรา 1:1 เช่น บิทคอยน์ (Bitcoin)...
วิศวกรรมสังคม (Social Engineering) เป็นการหลอกล่อให้ผู้คนเปิดเผยข้อมูลลับหรือกระทำการที่เป็นการลดระดับความปลอดภัย...
องค์กรสามารถติดตั้งระบบ EDR และ MDR ที่สามารถตรวจจับและตอบสนองต่อมัลแวร์เรียกค่าไถ่ได้อย่างรวดเร็ว...
Next-Generation Firewall (NGFW) สามารถวิเคราะห์แพ็กเกจข้อมูลในระดับแอปพลิเคชัน ทำให้สามารถตรวจจับและบล็อกการเข้าถึงเว็บไซต์หลอกลวง...
ธุรกิจควรฝึกอบรมพนักงานให้รู้จักสังเกตและรายงานอีเมล Phishing พร้อมติดตั้งระบบกรองอีเมลที่มีประสิทธิภาพ...
เมื่อสินทรัพย์ เช่น เหรียญคริปโตถูกโอนไปแล้ว มักไม่สามารถย้อนกระบวนการธุรกรรมนั้นๆ ได้...