เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ Information Technology (IT) ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการดำเนินการภายในองค์กร ทั้งการบริหารจัดการข้อมูล ไปจนถึงการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ จนอาจเรียกได้ว่าการวาง การจัดวาง IT Infrastructure คือ หนึ่งในรากฐานสำคัญที่องค์กรในยุคดิจิทัลขาดไปไม่ได้ ดังนั้น มาเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงสร้างไอทีในองค์กร ว่าคืออะไร มีองค์ประกอบอะไรบ้าง แล้วมีความสำคัญต่อองค์กรอย่างไร
IT Infrastructure คืออะไร
IT Infrastructure คือ โครงสร้างพื้นฐานที่ถูกออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานด้านต่างๆ ขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงาน การจัดการทรัพยากรเทคโนโลยี และจัดการแอปพลิเคชันของบริษัท เรียกได้ว่าเป็นแกนหลักในการทำงานของระบบไอที ซึ่งหากดำเนินการวางโครงสร้างไอทีในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ก็จะช่วยให้ลดปัญหาการด้านการเชื่อมต่อ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน พร้อมช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับข้อมูลสำคัญขององค์กร
องค์ประกอบ IT Infrastructure
ใน IT Infrastructure นั้นมีองค์ประกอบหลักด้วยกัน 4 ส่วน ได้แก่ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ โครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย และระบบจัดเก็บข้อมูล ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละอย่างทำหน้าที่สำคัญแตกต่างกันไป ดังนี้
1. ฮาร์ดแวร์ (Hardware)
ฮาร์ดแวร์ คือ อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เซิร์ฟเวอร์ (Server) ศูนย์ข้อมูล (Data Center) คอมพิวเตอร์ เราเตอร์ (Router) ฯลฯ รวมไปถึงสถานที่จัดเก็บ และระบบจ่ายพลังงานสำหรับศูนย์ข้อมูลหรือเซิร์ฟเวอร์ ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันทำงานได้ตามปกติ โดยทำงานร่วมกับโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อสื่อสารกับผู้ใช้ ซึ่งความเร็วและความยืดหยุ่นของโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ที่องค์กรเลือกใช้ด้วย
2. ซอฟต์แวร์ (Software)
ซอฟต์แวร์ หมายถึง แอปพลิเคชันต่างๆ ที่ควบคุมการทำงานของฮาร์ดแวร์บนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที เช่น ระบบปฏิบัติการ อย่าง Linux® ที่ทำหน้าที่จัดการทรัพยากรบนฮาร์ดแวร์ และเชื่อมต่อซอฟต์แวร์ทั้งหมดบนอุปกรณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน รวมไปถึงทำการประมวลผลและจัดการข้อมูลต่างๆ ขององค์กร
3. โครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย (Network Infrastructure)
โครงสร้าง Network Infrastructure ประกอบด้วยส่วนประกอบที่ทำงานประสานกันเพื่อสนับสนุนการใช้งานเครือข่ายไอที เป็นส่วนสำคัญขององค์กรในการเรียกใช้แอปพลิเคชันที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งประกอบไปด้วย
- ฮาร์ดแวร์เครือข่าย - เราเตอร์ สวิตช์ ฮับ เกตเวย์ และโมเด็ม
- ซอฟต์แวร์เครือข่าย - เครื่องมือตรวจสอบ จัดการ และระบบปฏิบัติการ
- บริการเครือข่าย - โปรโตคอลเครือข่าย เช่น TCP, UDP และการกำหนดที่อยู่ IP
4. ระบบจัดเก็บและสำรองข้อมูล (Data Storage and Backup)
ระบบจัดเก็บข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์ ศูนย์ข้อมูล หรือระบบคลาวด์ (Cloud) รวมถึงระบบสำรองข้อมูล ทำหน้าที่จัดเก็บและสำรองข้อมูลสำคัญขององค์กร
นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีการนำเทคโนโลยีคลาวด์ (Cloud) มาปรับใช้ในการออกแบบโครงสร้างไอที อย่าง Cloud & Infrastructure ที่องค์รสามารถใช้ทรัพยากรไอทีโดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งฮาร์ดแวร์ แต่เป็นการใช้งาน Resource ผ่านผู้ให้บริการระบบ Cloud Infrastructure แทน ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการปฏิบัติงานด้านต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น
ข้อดีของ IT Infrastructure
IT Infrastructure ที่มีประสิทธิภาพสามารถมอบประโยชน์และสร้างข้อได้เปรียบให้แก่องค์กรได้ในหลายด้าน เช่น
- เพิ่มประสิทธิภาพเครือข่าย: การจัดการ IT infrastructure ที่มีประสิทธิภาพจะทำให้เครือข่ายขององค์กรแข็งแกร่ง ช่วยลดระยะเวลา Downtime เพิ่มความรวดเร็วในการประสานงาน และช่วยให้มั่นใจว่าธุรกิจจะเชื่อมต่อข้อมูลต่างๆ ได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายโอนไฟล์ขนาดใหญ่หรือการประชุมทางวิดีโอ
- ช่วยให้การจัดเก็บข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ: ข้อมูลคือสิ่งสำคัญของทุกธุรกิจ ดังนั้น การจัดการโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่เหมาะสม โดยเฉพาะในส่วนของ Data Storage และการทำ Backup ผ่านโซลูชันเช่น Software-defined Storage (SDS) จะช่วยปรับปรุงการจัดเก็บข้อมูลให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น การเลือกโซลูชันการจัดเก็บข้อมูลที่เหมาะสมและบำรุงรักษาเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสียข้อมูลและเข้าถึงได้ง่าย ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยให้ข้อมูลที่อ่อนไหวปลอดภัยจากภัยคุกคามอย่างการโจมตีทางไซเบอร์ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- เพิ่มประสิทธิภาพบริการคลาวด์: ปฏิเสธไม่ได้ว่าบริการคลาวด์ได้เข้ามาปฏิวัติวิธีการดำเนินงานของธุรกิจ โดยมอบความยืดหยุ่นให้กับองค์กรของคุณได้ เมื่อคุณจัดการส่วนประกอบโครงสร้างพื้นฐานไอทีของคุณได้ดี คุณก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากบริการคลาวด์ได้อย่างเต็มที่
- เพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมของธุรกิจ: ด้วยโครงระบบไอทีที่มีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้ การดำเนินงานทางธุรกิจของคุณจึงดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ส่งผลให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น คุณลดความเสี่ยงของการหยุดชะงักที่เกี่ยวข้องกับไอที ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน
Traditional IT Infrastructure และ Cloud Infrastructure ต่างกันอย่างไร
ปัจจุบันโครงสร้าง IT Infrastructure สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ คือ แบบดั้งเดิม (Traditional IT Infrastructure) ที่ติดตั้งภายในองค์กร และแบบคลาวด์ (Cloud Infrastructure) ที่ติดตั้งบนระบบคลาวด์ ซึ่งแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความต้องการและลักษณะการใช้งานของแต่ละองค์กร
โครงสร้างพื้นฐานไอทีแบบดั้งเดิม (Traditional IT Infrastructure)
ประกอบด้วยสถานที่จัดเก็บ ดูแล ควบคุมศูนย์ข้อมูล เซิร์ฟเวอร์ อุปกรณ์เครือข่าย คอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป และโซลูชันแอปพลิเคชันต่างๆ ที่พนักงานใช้งาน โดยทั่วไปจะติดตั้งภายในสถานที่ขององค์กรเพื่อใช้งานภายในเท่านั้น โดยองค์กรจำเป็นต้องมีแผนกไอทีเพื่อติดตั้ง บำรุงรักษาระบบ และคอยแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ข้อดีของโครงสร้างพื้นฐานไอทีแบบดั้งเดิม
- ควบคุมสภาพแวดล้อมไอทีได้อย่างสมบูรณ์ มีความยืดหยุ่นในการจัดการปัญหา การเปลี่ยนแปลง การอัปเดต และการบำรุงรักษา
- มีความปลอดภัยสูงเนื่องจากเฉพาะพนักงานขององค์กรเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงศูนย์ข้อมูล
- ข้อมูลถูกจัดเก็บภายในองค์กร สามารถเข้าถึงได้ตลอด 24 ชั่วโมงแม้เครือข่ายหรืออินเทอร์เน็ตจะมีปัญหา
- สามารถปรับแต่งแอปพลิเคชันตามความต้องการเฉพาะขององค์กรได้
โครงสร้างพื้นฐานแบบคลาวด์ (Cloud Infrastructure)
เป็นระบบโครงสร้างที่เข้าถึงผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น Sangfor HCI โดยผู้ใช้สามารถใช้ทรัพยากรไอทีโดยไม่ต้องติดตั้งฮาร์ดแวร์ภายในองค์กร เพียงเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ที่ดูแลโดยผู้ให้บริการคลาวด์ เป็นโซลูชันเสมือน (Virtual Solution) ที่ช่วยให้องค์กรเข้าถึงแอปพลิเคชันและข้อมูลออนไลน์ได้จากทุกที่ในโลก
ข้อดีของโครงสร้างพื้นฐานแบบคลาวด์
- ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดภาระงาน หรือจำนวนคนของทีมไอทีภายใน ช่วยลดต้นทุนบุคลากร และมีพื้นที่จัดเก็บข้อมูลไม่จำกัด
- ปรับขนาดได้ไม่จำกัด (Scalable) ด้วยความสามารถในการจัดเก็บและทรัพยากรที่ยืดหยุ่น
- เพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน พนักงานสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลาที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
- ติดตั้งซอฟต์แวร์ได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งซอฟต์แวร์บนคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่อง
- อัปเดตระบบอัตโนมัติ ผู้ให้บริการเป็นผู้ดูแลระบบ โดยจะทำการอัปเดต และบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ
การเลือกใช้ IT Infrastructure แบบใด ขึ้นอยู่กับ งบประมาณ ความต้องการ และลักษณะการใช้งานของแต่ละองค์กร องค์กรขนาดใหญ่ ที่มีความต้องการเฉพาะ และต้องการควบคุมระบบเอง อาจเลือกใช้ Traditional IT Infrastructure ส่วนองค์กรขนาดเล็ก หรือ Startup อาจเลือกใช้ Cloud Infrastructure เพื่อเพิ่มความคล่องตัว และลดต้นทุนในระยะเริ่มแรก
จะเห็นได้ว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที (IT Infrastructure) มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จขององค์กรในยุคดิจิทัล การมีโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่แข็งแกร่งไม่เพียงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน แต่ยังเป็นด่านสำคัญในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง องค์กรที่ลงทุนในการวางระบบและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีอย่างเหมาะสมจะมีความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคตได้อย่างมั่นคง
Sangfor HCI โซลูชันโครงสร้างไอทีองค์กรครบวงจร
Sangfor Hyperconverged Infrastructure คือ โซลูชันระบบคลาวด์อัจฉริยะที่รวมทุกฟังก์ชันไว้ในที่เดียว ทั้งการประมวลผล การจัดเก็บข้อมูล ระบบเครือข่าย และการจัดการความปลอดภัย ด้วยสถาปัตยกรรมคลาวด์คอมพิวติ้งเจนเนอเรชันที่ 3 ที่ช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานได้ถึง 70% ติดตั้งง่าย ใช้งานสะดวก พร้อมรองรับการขยายระบบสู่คลาวด์สาธารณะหรือระบบไฮบริด ตอบโจทย์ทุกความต้องการขององค์กรยุคดิจิทัล ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Sangfor HCI หรือติดต่อเราวันนี้ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับบริการด้านโครงสร้างไอทีสำหรับองค์กรของคุณ