แม้ว่าอินเทอร์เน็ตจะช่วยให้เราทำอะไรได้อย่างสะดวกสบาย แต่ก็อย่าลืมว่าความสบายนี้มีอันตรายแฝงอยู่ อย่างที่เราอาจจะเห็นข้อมูลข่าวอาชญากรทางอินเทอร์เน็ตมากมายโดยเฉพาะ ไวรัสในคอมพิวเตอร์ที่จัดเป็นกลุ่มย่อยของมัลแวร์ (Malware) โดยมัลแวร์นั้นย่อมาจาก Malicious และ Software หมายถึงโปรแกรมประสงค์ร้ายที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อทำอันตรายกับข้อมูลในระบบขององค์กร ตัวอย่างเช่น Trojans, Worms หรือ Advanced Persistent Threat (APT) แล้วคำถาม คือ ทำไมถึงมีอาชญากรรมบนโลกอินเทอร์เน็ตเยอะแยะขนาดนี้? คำตอบก็คือ เหล่าแฮกเกอร์มักต้องการ เรียกค่าไถ่ข้อมูลที่สำคัญ การขโมยทรัพยากร เช่น CPU, RAM หรือ HDD ของเครื่องผู้ใช้งาน เพื่อทำ Cryptomining หรือขโมยข้อมูลภายในองค์กรนำมาขายใน Dark Web ด้วยความน่ากลัวนี้เองจึงมีโปรแกรมแอนตี้ไวรัสที่เป็นซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยตรวจจับและป้องกันการติดไวรัสของคอมพิวเตอร์และรักษาความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์
โปรแกรมแอนตี้ไวรัสคืออะไร
โปรแกรมแอนตี้ไวรัส คือ โปรแกรมรักษาความปลอดภัยที่ออกแบบมาเพื่อป้องกัน ตรวจจับ ค้นหา และกำจัดไวรัสและมัลแวร์ต่างๆ จากระบบคอมพิวเตอร์ เครือข่าย และอุปกรณ์อื่นๆ โดยทั่วไปแล้วโปรแกรมแอนตี้ไวรัสจะทำการติดตั้งบนคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยสามารถช่วยลดภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้หลายประเภท เช่น Ransomware หรือ Website ที่เมื่อเข้าใช้งาน ผู้ใช้จะมีความเสี่ยงโดนโจมตีแบบ Phishing โดยซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสมักจะรวมอยู่ในแพ็กเกจรักษาความปลอดภัย หรือสามารถซื้อแยกเป็นโปรแกรมเดี่ยวก็ได้
โปรแกรมแอนตี้ไวรัสช่วยป้องกันอะไรได้บ้าง
โปรแกรมแอนตี้ไวรัสในปัจจุบันมีคุณสมบัติที่จะช่วยป้องกันมัลแวร์ได้หลายประเภท โดยประเภทมัลแวร์ที่พบได้บ่อย ได้แก่
- ไวรัสคอมพิวเตอร์ (Computer Viruses): คือมัลแวร์ที่สามารถแพร่กระจายตัวเองได้ โดยไวรัสสามารถเข้ารหัส ย้าย ลบ หรือแก้ไขไฟล์และข้อมูลของคุณก่อนที่จะแพร่กระจายไปยังระบบอื่นๆ
- โทรจัน (Trojans): คือมัลแวร์ที่ปลอมแปลงเจตนาที่แท้จริง ต่างจากไวรัสคอมพิวเตอร์ตรงที่โทรจันไม่สามารถแพร่กระจายตัวเองได้ แต่เริ่มกระจายตัวหลังจากผู้ใช้เผลอเปิดใช้งาน
- สปายแวร์ (Spyware): คือ มัลแวร์ที่ออกแบบมาเพื่อสอดแนมผู้ใช้งาน มีเป้าหมายหลักคือการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้หรือคอมพิวเตอร์และส่งกลับไปยังแฮกเกอร์
- คีย์ล็อกเกอร์ (Keyloggers): มีทั้งในรูปแบบซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ทั้งสองรูปแบบจะบันทึกตัวอักษรที่พิมพ์บนระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถดึงข้อมูลส่วนตัวจากเป้าหมาย เช่น รหัสผ่านและข้อมูลที่ละเอียดอ่อนอื่นๆ ที่ถูกพิมพ์ลงไป
- แรนซัมแวร์ (Ransomware): มีเป้าหมายเพื่อเรียกค่าไถ่ โดยในปัจจุบันจะมี 2 แบบด้วยกันคือ Crypto Ransomware และ Locker Ransomware ซึ่งทั้ง 2 แบบมีเป้าหมายเหมือนกัน คือการปล่อยไวรัสในคอมพิวเตอร์และเข้ารหัสข้อมูลสำคัญ แฮกเกอร์จะเรียกร้องค่าไถ่เพื่อแลกกับการปลดล็อกหรือถอดรหัสข้อมูล โดยเหยื่อส่วนใหญ่มักไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจ่ายค่าไถ่
- แอดแวร์ (Adware): แอดแวร์ หรือมัลแวร์โฆษณาจะปล่อยไวรัสผ่านการแสดงโฆษณาให้ผู้ใช้เห็น แม้ว่าตัวโฆษณาเองอาจไม่ก่อภัยคุกคาม เช่น การขโมยตัวตน หรือพยายามหาผลกำไร แต่แอดแวร์สามารถทำให้คอมพิวเตอร์ของคุณช้าลงอย่างมากและเป็นจุดยึดเกาะสำหรับมัลแวร์รูปแบบอื่นที่อันตรายกว่า
- เวิร์ม (Worms): เวิร์มคอมพิวเตอร์มีลักษณะคล้ายกับไวรัส ต่างกันที่จะไม่แพร่ไวรัสไปยังโปรแกรมอื่น แต่เป็นซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตรายในตัวเอง ซึ่งมักเข้าสู่ระบบโดยใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องด้านความปลอดภัย จากนั้นเวิร์มจะแพร่กระจายเพื่อติดเชื้อระบบอื่นๆ ต่อไป
โปรแกรมแอนตี้ไวรัสทำงานอย่างไร?
จากข้างต้น จะเห็นว่าการโจมตีทางไซเบอร์นั้นน่ากลัวแค่ไหน ดังนั้นการติดตั้งโปรแกรมแอนตี้ไวรัสจะช่วยคุณปกป้องระบบต่างๆ ได้ โดยมีหลักการทำงาน 3 ขั้นตอนหลัก คือ การสแกน การตรวจจับ และการกำจัดภัยคุกคาม
ขั้นตอนที่ 1: การสแกน (Scanning)
เริ่มแรกเลยนั้นโปรแกรมแอนตี้ไวรัสจะทำการสแกนคอมพิวเตอร์ โดยปกติแล้วจะทำการสแกนโดยอัตโนมัติตามกำหนดเวลา แต่ผู้ใช้ก็ยังมีตัวเลือกให้สแกนด้วยตนเองได้ ซึ่งจะสแกนไฟล์ โค้ด และข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ของคุณก่อนจะดำเนินการขั้นตอนต่อไป
ขั้นตอนที่ 2: การตรวจจับ (Detection)
ในระหว่างการสแกนข้อมูล โปรแกรมแอนตี้ไวรัสจะตรวจสอบผลลัพธ์ที่พบและเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลมัลแวร์ หากมีสิ่งใดในการสแกนตรงกับในฐานข้อมูล ระบบก็จะทำเครื่องหมายไว้ โดยที่ฐานข้อมูลจะมีการอัปเดตอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอเพื่อค้นหามัลแวร์ที่ใหม่ที่สุดและอันตรายที่สุด
ขั้นตอนที่ 3: กำจัด (Eliminating)
ขึ้นอยู่กับตัวเลือกโปรแกรมแอนตี้ไวรัสของคุณ ซอฟต์แวร์ที่คุณเลือกจะถูกแยกและกักกันภัยคุกคาม เพื่อให้ผู้ใช้ลบออกด้วยตนเองในภายหลัง หรือลบออกโดยอัตโนมัติทันทีที่ตรวจพบ ไม่ว่าจะใช้วิธีใด โปรแกรมแอนตี้ไวรัสจะช่วยบรรเทาภัยคุกคามได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าคอมพิวเตอร์ของคุณปลอดภัยจากภัยทางไซเบอร์ต่างๆ
พูดได้ว่าไฟร์วอลล์ (Firewall) เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการปกป้องคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่าย โดยการกำหนดนโยบาย (Policies) เพื่อ อนุญาต (Permit) หรือปฏิเสธ (Deny) ทราฟฟิก จากต้นทางไปยังปลายทาง อีกทั้งยังมีโซลูชันขั้นสูง เช่น EDR (การตรวจจับและตอบสนองอุปกรณ์ปลายทาง) และ MDR (การตรวจจับและตอบสนองที่ได้รับการจัดการ) ช่วยเพิ่มความปลอดภัยด้วยการตรวจจับและตอบสนองต่อภัยคุกคามแบบเรียลไทม์ ยิ่งเมื่อใช้ร่วมกับ Data Loss Prevention (DLP) เทคโนโลยีเหล่านี้จะยิ่งช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะได้รับการปกป้องจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีเลือกโปรแกรมแอนตี้ไวรัส
ด้วยภัยคุกคามมากมายที่อยู่ในอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้การจัดการกับมัลแวร์และไวรัสคอมพิวเตอร์มีความท้าทายมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อรับมือกับภัยคุกคามเหล่านี้จึงมีควรเลือกใช้โปรแกรมแอนตี้ไวรัสที่ช่วยป้องกันการโจมตีเหล่านี้ได้อย่างครอบคลุม มาดูกันว่ามีหลักเกณฑ์การพิจารณาในการเลือกโปรแกรมแอนตี้ไวรัสอย่างไรบ้าง
1. ราคา
อันดับแรก ควรทำการประเมินราคาของโปรแกรมแอนตีไวรัสกับฟีเจอร์ที่ได้ เช่น คุ้มครองอุปกรณ์ได้กี่เครื่อง หากซื้ออุปกรณ์เป็นชุดจะช่วยประหยัดได้มากกว่าหรือไม่ จากนั้นดูว่าระยะเวลาการคุ้มครองมีระยะเวลานานเท่าใด มีค่าธรรมเนียมการต่ออายุเท่าไหร่ เพื่อพิจารณาถึงความคุ้มครองและความคุ้มค่าต่อราคา
2. ทดลองใช้งานเวอรชัน Demo
หากคุณกำลังเลือกโปรแกรมแอนตี้ไวรัสชิ้นใหม่ อาจไม่แน่ใจว่าโปรแกรมตัวไหนที่ดีหรือตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด จึงควรดูว่าโปรแกรมที่เลือกนั้นมีเวอร์ชันฟรีหรือตัวทดลองหรือไม่ ที่จะช่วยให้คุณเรียนรู้วิธีการใช้งานและตัดสินใจซื้อได้ดียิ่งขึ้น
3. คุณสมบัติการใช้งาน
ปัจจุบันโปรแกรมป้องกันไวรัสมักมีคุณสมบัติเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มการปกป้องที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เช่น ระบบ VPN ตัวจัดการรหัสผ่าน และการสนับสนุนอุปกรณ์พกพา โดยอาจพิจารณาฟีเจอร์เหล่านี้เพิ่มเติม หากตรงกับความต้องการของคุณ
ในยุคที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์มีความซับซ้อนและอันตรายมากขึ้น การเลือกใช้โปรแกรมแอนตี้ไวรัสที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทั้งผู้ใช้งานทั่วไปและองค์กร การพิจารณาปัจจัยต่างๆ ทั้งด้านราคา คุณสมบัติการใช้งาน และความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ จะช่วยให้คุณสามารถเลือกโปรแกรมแอนตี้ไวรัสและโซลูชันความปลอดภัยที่เหมาะสมกับความต้องการได้ ซึ่งนอกจากการป้องกันไวรัสแล้ว การมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ครอบคลุมและทันสมัยก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการปกป้องข้อมูลและระบบในยุคดิจิทัล
ปกป้องธุรกิจของคุณด้วย Sangfor
Sangfor นำเสนอการป้องกันมัลแวร์ในเครือข่ายด้วย Sangfor NGAF และการป้องกันอุปกรณ์ปลายทาง (Endpoint) ไม่ว่าจะเป็น PC Notebook รวมถึง Server ด้วย Sangfor Endpoint Secure เพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและระบบคอมพิวเตอร์ของคุณจากมัลแวร์ อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ไฟร์วอลล์ยุคใหม่ (Next-generation Firewall: NGFW) และ Endpoint Secure (EDR) หรือติดต่อเราสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม