ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ที่อินเทอร์เน็ตถือกำเนิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน เทคโนโลยีนี้ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว เปิดโอกาสให้ผู้คนและธุรกิจเข้าถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม อินเทอร์เน็ตไม่ได้มอบเพียงโอกาส แต่ยังนำมาซึ่งภัยคุกคามด้วย โดยเฉพาะเมื่ออินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์มีความซับซ้อนมากขึ้น วิธีการที่ผู้คุกคามหรือ Threat Actor ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มหรือบุคคล เช่น กลุ่มแฮกเกอร์ ใช้ก็มีความล้ำหน้าขึ้นเรื่อยๆ หลายคนอาจคุ้นเคยกับคำว่าไวรัสคอมพิวเตอร์ แต่คำที่ครอบคลุมกว่านั้นคือ มัลแวร์ (Malware)
มัลแวร์ (Malware) เป็นเรื่องที่สำคัญที่คุณควรจะเข้าใจนิยาม ความหมาย วิธีการทำงาน รวมไปถึงแนวทางในการป้องกันภัยคุกคามเหล่านี้ด้วยการใช้โซลูชันต่อต้านมัลแวร์ต่างๆ
Malware คืออะไร
มัลแวร์ (Malware) ย่อมาจากคำว่า Malicious Software หมายถึง ซอฟต์แวร์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความเสียหายให้กับระบบคอมพิวเตอร์ในรูปแบบใดแบบหนึ่ง
ซึ่งเหตุผลที่แฮกเกอร์ใช้มัลแวร์เพื่อโจมตีบุคคลหรือองค์กรนั้นมีหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น
- แรงจูงใจทางการเงิน
แฮกเกอร์มักใช้งานมัลแวร์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการเงินจากเป้าหมาย โดยเฉพาะกับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีทรัพย์สินจำนวนมาก เช่น การโจมตีด้วยมัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware) ต่อ Colonial Pipeline การโจมตี JBS และล่าสุดคือการโจมตีด้วย Conti Ransomware ที่เกิดขึ้นในประเทศคอสตาริก้า
- การแฮกเพื่อการคลื่อนไหวทางสังคม (Hactivism)
โดยทั่วไป นักเคลื่อนไหวทางไซเบอร์ (Hacktivists) มักเล็งเป้าหมายไปที่องค์กรขนาดใหญ่ที่เป็นที่รู้จัก เพื่อทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงหรือส่งข้อความถึงองค์กรและสาธารณชน ด้วยแรงจูงใจทางสังคมหรือการเมือง ซึ่งแน่นอนว่านักเคลื่อนไหวเหล่านี้มักจะใช้มัลแวร์เพื่อเจาะระบบรักษาความปลอดภัย
- การแก้แค้น (Revenge Attack)
หนึ่งในเหตุผลที่แฮกเกอร์ใช้มัลแวร์ก็เพื่อแก้แค้นบุคคลหรือองค์กรที่พวกเขาเชื่อว่าทำผิดต่อตน โดยในกรณีนี้การโจมตีมักมีแรงจูงใจมาจากความโกรธเพียงอย่างเดียว ซึ่งแฮกเกอร์อาจใช้ Malware ต่างๆ โดยไม่คำนึงผลลัพธ์ที่จะตามมา
- ชื่อเสียง (Reputation Attack)
สำหรับแฮกเกอร์บางกลุ่ม การแฮกเข้าสู่ระบบต่างๆ เป็นเพียงการสร้างการถูกยอมรับและแสดงถึงความเชี่ยวชาญของตน ซึ่งปัจจุบันในโลกที่ถูกครอบงำด้วยสื่อสังคมออนไลน์ การได้รับการยอมรับในระดับโลกเป็นเรื่องง่ายขึ้น และการใช้มัลแวร์ในการแฮกจึงเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างชื่อเสียง
- ความท้าทาย (Challenge-driven Attack)
แฮกเกอร์บางคนอาจมองถึงการแฮกว่าเป็นเพียงความท้าทายเท่านั้น อย่างการเจาะระบบที่ "ไม่สามารถเจาะได้" เป็นต้น ถึงแม้สังคมส่วนใหญ่จะคาดหวังว่าผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีและซอฟต์แวร์จะใช้ความเชี่ยวชาญในทางที่ดี เช่นการทำ White Hat Hacking แต่บางครั้งกิจกรรมที่มีความเสี่ยงหรือน่าตื่นตาตื่นใจก็อาจนำไปสู่การใช้มัลแวร์เพื่อความสนุก
- การบ่อนทำลาย (Subversion)
Subversion หรือ การบ่อนทำลาย คือ การใช้มัลแวร์เป็นเครื่องมือในการโจรกรรมข้อมูลองค์กร เพื่อแทรกแซงกิจการขององค์กร รวมถึงรบกวนการดำเนินงานในโครงการและองค์กรขนาดใหญ่
แม้จะมีหลายแรงจูงใจในการใช้มัลแวร์โจมตีบุคคลหรือองค์กร แต่สิ่งที่เหมือนกันคือเจตนาที่จะก่อให้เกิดความเสียหายเพื่อเข้าถึงข้อมูลหรือแอปพลิเคชันโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้ การกระทำเหล่านี้มักเกิดขึ้นโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดกับเหยื่อ
ท่ามกลางโลกอินเทอร์เน็ตที่มัลแวร์แพร่หลาย การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อทั้งองค์กรและบุคคลทั่วไป
มัลแวร์ทำงานอย่างไร?
อันดับแรก ต้องทราบก่อนว่า มัลแวร์ (Malware) ไม่ได้จำกัดทำงานเฉพาะในคอมพิวเตอร์เท่านั้น เพราะว่ามัลแวร์สามารถสร้างความเสียหายให้แก่อุปกรณ์ได้หลายรูปแบบ โดยขึ้นอยู่กับประเภทและวัตถุประสงค์ของมัลแวร์ที่โจมตี เป้าหมายอาจเป็นการทำลายข้อมูล ขโมยข้อมูลส่วนตัว ควบคุมอุปกรณ์ หรือแม้แต่ทำลายฮาร์ดแวร์ในบางกรณี นั่นหมายความว่า องค์กรและธุรกิจต่างมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกมัลแวร์โจมตีจากทั้ง Internet และ Intranet รวมถึง External และ Internal
เมื่อมัลแวร์สามารถเข้าไปถึงอุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่ง แฮกเกอร์จะสามารถลงมือทำการกระทำได้หลายรูปแบบ ซึ่งรูปแบบที่พบเจอบ่อยๆ เมื่ออุปกรณ์ถูกมัลแวร์ติดตั้งแล้วได้แก่
เข้าควบคุมอุปกรณ์ (Compromised / Infected)
เมื่อ Hacker ติดตั้งมัลแวร์ในอุปกรณ์ได้สำเร็จ แฮกเกอร์จะสามารถเข้าควบคุมอุปกรณ์นั้นๆ ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงหรือรีเซ็ตรหัสผ่าน การติดตั้งโปรแกรมใหม่ หรือแม้กระทั่งการขโมยข้อมูลที่เป็นความลับและทรัพย์สินทางปัญญาที่บันทึกอยู่ในอุปกรณ์ดังกล่าว หรือพูดง่ายๆ ว่าทุกสิ่งที่อยู่ในอุปกรณ์จะตกอยู่ในมือของแฮกเกอร์ และแฮกเกอร์ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลทุกอย่างได้ตามต้องการ
การโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ (Ransomware Attack)
Ransomware Attack มักมุ่งเน้นไปที่บริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่ที่มีทรัพย์สินหรือเงินจำนวนมาก โดยการโจมตีแบบ Ransomware นั้น มัลแวร์จะต้องถูกดาวน์โหลดหรือนำเข้ามาสู่ระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านการฟิชชิ่ง (Phishing) หรือการวางแผนล่อลวง ก่อนที่จะทำการติดตั้งมัลแวร์ลงบนอุปกรณ์ของผู้ใช้
เมื่อมัลแวร์สามารถเข้ารหัสข้อมูล (Encryption) ในฮาร์ดไดรฟ์ของระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ได้แล้ว มัลแวร์จะพยายามติดต่อกลับไปหา Hacker เพื่อที่จะเรียกร้องเงินค่าไถ่เป็นจำนวนมาก เพื่อแลกกับการคืนสิทธิ์การเข้าถึงระบบของเหยื่อ อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่าแฮกเกอร์จะทำตามสัญญานั้นจริงหรือไม่ ซึ่ง Hacker อาจจะส่ง Key เพื่อทำการถอดรหัสข้อมูล (Decryption) หรือลบ Key ทิ้งก็สามารถทำได้เช่นกัน
Keyloggers
คีย์ล็อกเกอร์ (Keylogger) เป็นการโจมตีทางไซเบอร์ที่ Hacker มุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเงินจากบุคคล ธรรมดา โดยจะเป็นการติดตั้งมัลแวร์ในอุปกรณ์ของบุคคล ที่ทำให้สามารถเฝ้าติดตามและบันทึกทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนอุปกรณ์ของเหยื่อได้ รวมไปถึงการเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญอย่างเช่น ข้อมูลบัตรเครดิต รหัสการล็อกอินเข้าบัญชีธนาคารออนไลน์ และอื่นๆ
APT Malware
APT Malware (Advanced Persistent Threat Malware) หมายถึง มัลแวร์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการโจมตีแบบ APT (Advanced Persistent Threat) ซึ่งเป็นการโจมตีไซเบอร์ที่มีลักษณะเฉพาะคือ ความซับซ้อน (Advanced), การปฏิบัติการระยะยาว (Persistent), และ เป้าหมายเฉพาะเจาะจง (Targeted) โดยมัลแวร์ประเภทนี้มักถูกสร้างขึ้นเพื่อเจาะระบบของเป้าหมายเฉพาะ เช่น องค์กร, หน่วยงานรัฐ, หรือโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ (Critical Infrastructure)
ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด APT Malware เคยถูกสตอล์กเกอร์ (Stalker) หรือแม้แต่ฆาตกรต่อเนื่อง (Serial Killer) นำมาใช้เพื่อสะกดรอยตามและทำอันตรายต่อเหยื่อ
Trojans (โทรจัน)
Trojans เป็นมัลแวร์ชนิดหนึ่งที่ปลอมแปลงลักษณะเป็นโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ที่ดูน่าเชื่อถือ เพื่อ หลอกล่อให้ผู้ใช้ติดตั้งลงในอุปกรณ์ของตน โดยที่ในความเป็นจริงแล้ว Trojans เป็นตัวนำมัลแวร์ เข้าสู่ระบบและอุปกรณ์นั้นๆ โดยเมื่อ Trojans ถูกติดตั้งลงในอุปกรณ์แล้ว อาจทำการดาวน์โหลดไวรัสหรือมัลแวร์อันตรายชนิดต่างๆ เพิ่มเติมลงบนอุปกรณ์
Password Crackers (โปรแกรมแฮกรหัสผ่าน)
Password Crackers เป็นมัลแวร์ชนิดหนึ่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อค้นหารหัสผ่านต่างๆ ของผู้ใช้งาน Hacker สามารถใช้เครื่องมือนี้เพื่อเข้าถึงบัญชีออนไลน์ต่างๆ ได้ อย่างเช่นอีเมล โซเชียลมีเดีย บัญชีธนาคาร หรือแม้กระทั่งบัญชีเกมออนไลน์ ซึ่งสามารถนำไปสู่การถูกแอบอ้างตัวตนหรือการถูกโจรกรรมข้อมูลทางการเงินได้
ทั้งนี้ Password Crackers นั้นมักใช้เวลานานในการเจาะรหัสข้อมูล ทำให้ซอฟต์แวร์ป้องกันภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity)มีเวลาทำงานมากพอในการตรวจจับและกำจัดนั้นมัลแวร์ได้ก่อนความเสียหายจะเกิดขึ้น
Worms (เวิร์ม)
Worms ถือว่าเป็นหนึ่งในชนิดมัลแวร์ที่มีความอันตรายมากที่สุด เนื่องจากสามารถก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้างภายในเวลาระยะสั้นๆ โดย Worms ต่างจากมัลแวร์ประเภทอื่นตรงที่ ไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อระบบหรืออุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่งเท่านั้นแต่มันยังสามารถก๊อปปี้ตัวเอง และแพร่กระจายไปยังอุปกรณ์หรือระบบอื่นๆ ที่เข้าถึงได้อีก อย่างเช่นการแพร่กระจายผ่านอีเมล ไฟล์ที่ดาวน์โหลด หรือแม้กระทั่งการเชื่อมต่ออุปกรณ์ผ่าน USB
[Webinar] การหลบเลี่ยงการตรวจจับของมัลแวร์ (Malware Evasion)
เพื่อทำความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีที่มัลแวร์หลบเลี่ยงการตรวจจับ และเหตุผลที่มาตรการรักษาความปลอดภัยแบบดั้งเดิมล้มเหลวในการป้องกัน เราขอแนะนำให้รับชม Webinar ด้านล่าง:
วิธีการป้องกันมัลแวร์มีอะไรบ้าง
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น มัลแวร์สามารถสร้างความเสียหายอันร้ายแรงต่ออุปกรณ์และข้อมูลต่างๆ ซึ่งการป้องกันปัญหาก่อนเกิดขึ้นย่อมเป็นโซลูชันที่ดีกว่าการแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นในภายหลัง มาดูกันว่า การป้องกันมัลแวร์สามารทำอย่างไรได้บ้าง
ใช้รหัสผ่านที่มีความแข็งแรงเสมอ (Strong Password)
รหัสผ่านที่มีความแข็งแรงหรือซับซ้อนและเดาได้ยากช่วยเพิ่มโอกาสในการหลีกเลี่ยงการถูกแฮก โดยองค์ประกอบสำคัญของรหัสผ่านที่แข็งแรง มีดังนี้
- ควรมีความยาว 18-20 ตัวอักษร
- ควรมีตัวเลขหรือสัญลักษณ์อย่างน้อย 1 ตัว
- ห้ามใช้คำที่มีในพจนานุกรม
- ต้องประกอบด้วยตัวพิมพ์ใหญ่และตัวพิมพ์เล็ก
การสร้างรหัสผ่านที่ดีที่สุดคือ การสร้างรหัสผ่านที่ “ไร้ความหมาย” หรือก็คือเป็นคำที่ไม่มีอยู่ สลับกับการใช้สัญลักษณ์แบบสุ่มๆ เพื่อลดโอกาสที่รหัสผ่านจะถูกคาดเดา แต่ต้องแน่ใจว่าสามารถจำรหัสผ่านนั้นๆ ได้
ติดตั้งซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยที่น่าเชื่อถือ
การใช้ซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยและโปรแกรมป้องกันมัลแวร์ (Anti-malware) ที่น่าเชื่อถือมีความสำคัญในการตรวจจับและกำจัดมัลแวร์และไฟร์วอลล์ (Firewall) ที่จะช่วยป้องกันการเข้าถึงระบบของจากภายนอก รวมไปถึงให้การป้องกันแบบเรียลไทม์จากโปรแกรมที่เป็นอันตราย ไฟล์ที่ติดไวรัส และภัยคุกคามอื่นๆ ควรอัปเดตซอฟต์แวร์อย่างสม่ำเสมอ และอาจพิจารณาโปรแกรมรักษาความปลอดภัยที่มีความทันสมัยอย่าง เพื่อป้องกันภัยคุกคามล่าสุด
การอำพรางระบบปฏิบัติการ (Digital Disguises)
มัลแวร์จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อถูกออกแบบมาสำหรับระบบปฏิบัติการเฉพาะ เช่น Windows, Apple หรือ Linux ในอีกนัยหนึ่ง หากมัลแวร์ที่เข้ามาในอุปกรณ์ของคุณถูกออกแบบมาสำหรับระบบปฏิบัติการอื่น ก็จะไม่สามารถทำงานได้ ดังนั้น เราสามารถใช้จุดนี้ในการป้องกันจากแฮกเกอร์ได้ ด้วยการอำพรางระบบปฏิบัติการ ก็จะช่วยสร้างความสับสนและยับยั้งแฮกเกอร์ไม่ให้เจาะเข้ามาภายในระบบได้สำเร็จ
ระมัดระวังการคลิกลิงก์
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการฟิชชิ่ง (Phishing) เป็นหนึ่งในแหล่งที่มาของการแฮกและการติดไวรัสคอมพิวเตอร์ที่พบบ่อยที่สุด เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตรวจจับการหลอกลวง ดังนั้นจึงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษในการท่องอินเทอร์เน็ต ไม่คลิกลิงก์ที่ดูน่าสงสัย หรือดาวน์โหลดไฟล์แนบจากอีเมลที่ดูเป็นอันตราย เนื่องจากลิงก์เหล่านี้มักมีมัลแวร์แฝงอยู่ ซึ่งจะถูกดาวน์โหลดและติดตั้งในอุปกรณ์ทันทีที่คลิก ทั้งนี้ ไม่มีวิธีในการป้องกันการฟิชชิ่งที่ตายตัว แต่หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดคือการระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อได้รับอีเมลจากผู้ส่งที่ไม่รู้จัก และฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับลักษณะสำคัญของอีเมลฟิชชิ่ง
ใช้โปรแกรมสแกนมัลแวร์
การสแกนอุปกรณ์ด้วยโปรแกรมสแกนมัลแวร์เป็นประจำหรือใช้งานซอฟต์แวร์อย่าง Sangfor Engine Zero สามารถช่วยตรวจจับและกำจัดมัลแวร์ที่อาจแทรกซึมเข้าสู่ระบบได้ นอกจากนี้ ควรกำหนดตารางการสแกนมัลแวร์เพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ของคุณปลอดภัย ไม่มีช่องโหว่ที่เข้าถึงได้ และได้รับการป้องกันอย่างเหมาะสม
ติดตามข่าวสารและอัปเดตสม่ำเสมอ
แฮกเกอร์และนักพัฒนาซอฟต์แวร์พยายามเอาชนะกันอยู่ตลอดเวลา ด้วยวิธีการแฮ็กที่ล้ำสมัยและวิธีการป้องกันแฮกเกอร์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นตามลำดับ ดังนั้นจึงควรติดตามข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์โจมตีทางไซเบอร์ รวมไปถึงอัปเดตใหม่ๆ เกี่ยวกับซอฟต์แวร์หรือเทคโนโลยีที่ใช้ในการป้องกันและกำจัดมัลแวร์
ดังคำพูดที่ว่า “การป้องกันดีกว่าการรักษา” หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันตัวจากมัลแวร์ที่เป็นอันตราย คือ การทำให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ต่างๆ ได้รับการอัปเดตด้าน Cybersecurity อยู่เสมอ ระบบคอมพิวเตอร์จะได้รับการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อมอบการป้องกันที่ดีที่สุดแก่อุปกรณ์และข้อมูลจากมัลแวร์ กล่าวคือ ยิ่งอุปกรณ์ทันสมัยเท่าไร ก็จะยิ่งปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น
ร่วมมือกับผู้ให้บริการโซลูชัน Cybersecurity ที่น่าเชื่อถือ
หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber Threats) คือ โซลูชันความปลอดภัยทางไซเบอร์ muj,uการใช้สถาปัตยกรรมหลาย Layer ยกตัวอย่างซอฟต์แวร์เช่น ไฟร์วอลล์รุ่นใหม่ (Next-generation Firewall) อย่าง Sangfor NGFW, การรักษาความปลอดภัยอุปกรณ์ปลายทาง (Endpoint Security), Cloud-Based SASE และโซลูชันความปลอดภัยทางไซเบอร์อื่นๆ สามารถป้องกันระบบคลาวด์ของคุณจากมัลแวร์ ธุรกิจแต่ละแห่งมีความต้องการที่แตกต่างกัน ดังนั้นควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อค้นหาสิ่งที่จำเป็นสำหรับองค์กรของคุณ
สรุป แม้ว่าอินเทอร์เน็ตจะเปิดโอกาสและศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมซอฟตแวร์ โปรแกรม และเทคโนโลยีต่างๆ แต่ก็แฝงไปด้วยภัยคุกคามทางไซเบอร์ด้วยเช่นกัน แม้จะไม่สามารถป้องกันความเสียหายจากการแฮ็กและมัลแวร์ได้ทั้งหมด แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการป้องกันก็ช่วยให้ผู้ใช้ยกระดับความปลอดภัยได้มากขึ้น
สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโซลูชันด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ Sangfor นำเสนอ เพื่อป้องกันมัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware) และมัลแวร์ รวมถึงวิธีปกป้องธุรกิจของคุณจากอันตรายของมัลแวร์ หากมีคำถามเพิ่มเติม อย่าลังเลที่จะติดต่อผู้เชี่ยวชาญของเรา
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับมัลแวร์
มัลแวร์คืออะไร?
มัลแวร์เป็นคำจำกัดความที่มีความหมายกว้าง โดยทั่วไปแล้วหมายถึง ซอฟต์แวร์ทุกประเภทที่มีเจตนาทำร้ายผู้ใช้งานในรูปแบบต่างๆ
ความแตกต่างระหว่างไวรัส (Virus) และมัลแวร์คืออะไร?
มัลแวร์เป็นคำที่ใช้เรียกซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตรายทุกประเภทที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำร้ายหรือใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์หรือเครือข่ายที่สามารถโปรแกรมได้ ส่วนไวรัสเป็นมัลแวร์ประเภทหนึ่งที่แพร่กระจายโดยแนบตัวเองกับไฟล์ที่ดูปกติและแพร่กระจายไปยังไฟล์อื่นๆ ในอุปกรณ์หรือเครือข่าย
จะรู้ได้อย่างไรว่าคอมพิวเตอร์ของติดมัลแวร์?
สัญญาณทั่วไปได้แก่ ประสิทธิภาพช้าลง เครื่องค้างบ่อย โฆษณาป๊อปอัพที่แสดงขึ้โดยไม่มีสาเหตุ มีโปรแกรมที่ไม่คุ้นเคยเริ่มทำงานโดยอัตโนมัติ และฮาร์ดไดรฟ์ทำงานมากผิดปกติ หากคุณพบอาการเหล่านี้ แนะนำให้ทำการสแกนมัลแวร์
อุปกรณ์มือถือสามารถติดมัลแวร์ได้หรือไม่?
ได้ สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตก็มีความเสี่ยงต่อการโจมตีด้วยมัลแวร์เช่นกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดาวน์โหลดแอปจากแหล่งที่น่าเชื่อถือเท่านั้น อัปเดตระบบปฏิบัติการ และใช้ซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยที่ออกแบบมาสำหรับอุปกรณ์มือถือ
ซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัส (Antivirus) เพียงพอที่จะป้องกันมัลแวร์ทุกประเภทหรือไม่?
แม้ว่าซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสจะมีความจำเป็น แต่อาจไม่สามารถป้องกันมัลแวร์ทุกประเภทได้ โดยเฉพาะภัยคุกคามใหม่หรือซับซ้อน การรวมซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสกับมาตรการรักษาความปลอดภัยอื่นๆ เช่น ไฟร์วอลล์ (Firewall), โปรแกรมป้องกันมัลแวร์ (Anti-malware) และการท่องเว็บอย่างปลอดภัยจะให้การป้องกันที่ดีกว่า
ควรทำอย่างไรหากระบบติดมัลแวร์เรียกค่าไถ่?
ตัดการเชื่อมต่ออุปกรณ์จากเครือข่ายทันทีเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของมัลแวร์ อย่าจ่ายค่าไถ่ เพราะไม่มีการรับประกันว่าจะได้ข้อมูลคืน ติดต่อผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่สามารถช่วยกำจัดมัลแวร์และอาจกู้คืนข้อมูลของคุณได้
มัลแวร์แพร่กระจายอย่างไร?
มัลแวร์สามารถแพร่กระจายผ่านไฟล์แนบอีเมลที่เป็นอันตราย การดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ที่ติดเชื้อ เว็บไซต์ที่ถูกบุกรุก และแม้แต่ผ่านช่องโหว่ของเว็บเบราว์เซอร์ กลยุทธ์ทางวิศวกรรมสังคม (Social Engineering) เช่น การฟิชชิ่ง (Phishing) มักถูกใช้เพื่อหลอกให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดมัลแวร์
มัลแวร์สามารถส่งผลกระทบต่อธุรกิจของฉันได้หรือไม่ แม้ว่าจะมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอยู่แล้ว?
ได้ ไม่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยใดที่สมบูรณ์แบบ ภัยคุกคามทางไซเบอร์มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และแฮกเกอร์มักค้นหาช่องโหว่ใหม่ๆ ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ การอัปเดตโปรโตคอลความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ และการให้ความรู้พนักงานเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ดีที่สุดสามารถช่วยลดความเสี่ยงได้
ช่องโหว่แบบ Zero-Day Vulnerability คืออะไร?
ช่องโหว่แบบ Zero-Day คือ ข้อบกพร่องของซอฟต์แวร์ที่ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ไม่ทราบและยังไม่มีแพทช์หรือการแก้ไข ผู้โจมตีใช้ประโยชน์จากช่องโหว่เหล่านี้เพื่อส่งมัลแวร์ก่อนที่นักพัฒนาจะสามารถแก้ไขปัญหาได้
ควรอัปเดตซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยบ่อยแค่ไหน?
คุณควรเปิดใช้งานการอัปเดตอัตโนมัติสำหรับซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยเพื่อให้แน่ใจว่ามีการกำหนดภัยคุกคามล่าสุด การอัปเดตอย่างสม่ำเสมอมีความสำคัญในการป้องกันภัยคุกคามจากมัลแวร์ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น
การใช้เครือข่าย Wi-Fi สาธารณะปลอดภัยหรือไม่?
เครือข่าย Wi-Fi สาธารณะมักไม่มีการรักษาความปลอดภัย ทำให้ผู้โจมตีสามารถดักจับข้อมูลหรือส่งมัลแวร์ได้ง่ายขึ้น หากคุณจำเป็นต้องใช้ Wi-Fi สาธารณะ ควรพิจารณาใช้ เครือข่ายส่วนตัวเสมือน (Virtual Private Network - VPN) เพื่อเข้ารหัสการเชื่อมต่อของคุณ